สาธารณสุขจังหวัดพะเยา แนะวิธีปฏิบัติตน ให้ปลอดภัยจากโรคที่เกิดจากยุงลาย
นายแพทย์กรกฤช ลิ้มสมมุติ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา เปิดเผยถึง สถานการณ์โรคติดต่อ นำโดยยุงลาย ซึ่งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลายและโรคติดเชื้อ ไวรัสซิกา โดยมีแนวโน้มการระบาดสูงขึ้นในช่วงฤดูฝน จากรายงานสถานการณ์ไข้เลือดออกของประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 – 16 มิถุนายน 2563 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 18,568 ราย คิดเป็น อัตราป่วย 28.01 ต่อแสนประชากร มียอดผู้เสียชีวิตแล้ว 11 ราย สำหรับจังหวัดพะเยาข้อมูลการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของจังหวัด ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 16 มิถุนายน 2563 มีรายงานผู้ป่วยสะสมจำนวน 43 ราย อัตราป่วยเท่ากับ 9.06 ต่อแสนประชากร มีผู้เสียชีวิต 1 ราย อัตราป่วยสะสมเป็นลำดับที่ 71 ของประเทศ กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคือ อายุ 25-34 ปี พบผู้ป่วยในพื้นที่ 5 อำเภอ อำเภอเชียงม่วน มีอัตราป่วยสะสมมากที่สุด รองลงมา คือ เมืองพะเยา อำเภอดอกคำใต้ ภูซาง และปง ตามลำดับ
ในปี 2563 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยาได้จัดทำโครงการจิตอาสาปราบยุงลายด้วยความร่วมมือราษฎร์ – รัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ และชุมชน จังหวัดพะเยา โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ดังนี้ ขอความร่วมมือประชาชนทุกครัวเรือนต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ด้วยการใช้มาตรการ “ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ” ได้แก่ เก็บบ้าน ให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะต่างๆไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด เช่น โอ่ง ไห ขวด ถัง เป็นต้น ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ให้ทุกครัวเรือนสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านตนเอง ทุกสัปดาห์ อาสาสมัครสาธารณสุขและจิตอาสาปราบยุงลายสุ่มสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชนทุกสัปดาห์ และให้ความรู้ สร้างความตระหนักในการป้องกันควบคุมโรคในชุมชน หากพบผู้ป่วยรายใหม่ในหมู่บ้านหรือชุมชน ต้องเร่งดำเนินการควบคุมโรคในรัศมี 100 เมตร รอบบ้านผู้ป่วย ทั้งนี้เพื่อป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลายและโรคติดเชื้อไวรัสซิกา