พะเยา อธิการบดี มพ. ลงพื้นที่ศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง ฯ พร้อมปล่อยอึ่งเพ้าคืนสู่ธรรมชาติ
รศ.ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงการเกษตรและความอยู่รอดของมนุษยชาติ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงมีนโยบายในการปรับปรุงดูแลซ่อมแซมแนวรั้วลวดหนามที่ชำรุดเสียหายของศูนย์ ฯ พร้อมด้วย รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ ผศ.ดร.บุหรัน พันธุ์สวรรค์และคณะผู้บริหาร โดยมี คณบดีคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ผศ.ดร.บุญฤทธิ์ สินค้างาม นำชมสถานที่และผลิตผลของศูนย์ฯ ระหว่างทางเยี่ยมชม อาทิ มะม่วง มะไฟ พืชผักต่างๆ รวมถึงเข้าเยี่ยมชมและป้อนนมลูกแพะน้อยในโซนโรงเรือนเลี้ยงแพะเนื้อและแพะนมอีกด้วย สำหรับภายในศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงการเกษตร ฯ ได้จัดแบ่งกิจกรรม ออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ 1.งานศึกษาและพัฒนาพันธุ์พืชและเกษตรกรรม 2.งานศึกษาและพัฒนาการปศุสัตว์ 3.งานแปรรูปและผลิตภัณฑ์ และ 4.งานศึกษาและพัฒนาการประมง
นอกจากนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีเนื่องในวันที่ 22 เมษายนของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ถือเป็นวันสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติทั่วโลกที่ต้องการปลูกฝังให้คนรัก หวงแหนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยาโดยคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ได้สนองพระราชดำริจัดทำพื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมอึ่งเพ้า ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และได้ถือวันสำคัญนี้ ปล่อยอึ่งปากขวด หรือ อึ่งเพ้า หรืออึ่งเค่า คืนสู่ธรรมชาติ โดยคณะเกษตรฯ เป็นผู้เพาะพันธุ์รวมถึงศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมความยั่งยืนของชุมชน โดยได้รับเกียรติจาก อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา มาเป็นประธานปล่อยพร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมกิจกรรมปล่อยอึ่งเพ้าคืนสู่ธรรมชาติ
สำหรับอึ่งปากขวดหรืออึ่งเพ้า สถานะการอนุรักษ์ ใกล้ถูกคุกคาม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Glyphoglossus molossus) เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดหนึ่ง จำพวกอึ่งอ่าง จัดเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Glyphoglossus[2] มีความยาวจากหัวจรดถึงก้นประมาณ 73 มิลลิเมตร ลำตัวอ้วนป้อม มีลักษณะเด่นคือ หน้าสั้นมาก ปากแคบและทู่ไม่มีฟัน ไม่เหมือนกับกบหรืออึ่งอ่างชนิดอื่น ๆ ตาเล็ก ขาสั้น โดยมีพฤติกรรมอาศัยโดยขุดโพรงดินที่เป็นดินปนทรายและอาศัยอยู่ภายใน ในป่าที่มีความชุ่มชื้นใกล้กับพื้นที่ชุ่มน้ำ ในฤดูร้อนจะซ่อนตัวในโพรงแทบตลอด เมื่อฝนตกจะออกมาหากิน โดยหากินในเวลากลางคืน ผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝน และจะผสมพันธุ์วางไข่เร็วกว่าอึ่งอ่างหรือกบชนิดอื่น อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ไปไหนมาไหนพร้อมกันเป็นฝูง แต่ในปัจจุบันมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะถูกจับมาบริโภค โดยเฉพาะอย่างมากในช่วงฤดูฝนที่จะสร้างรายได้แก่ผู้ที่จับมาได้วันละหลายหมื่นบาท (ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
มหาวิทยาลัยพะเยา เพาะพันธุ์เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมการแพร่พันธุ์ ของอึ่งปากขวด หรือ อึ่งเพ้า หรืออึ่งเค่า เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เป็นตัวอย่างกิจกรรมหนึ่งที่ต้องการทำให้ระบบนิเวศน์โดยรอบมหาวิทยาลัยพะเยาอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางด้านเกษตร ปศุสัตว์ของนิสิต อีกทั้งเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยของอาจารย์ สำหรับชุมชนได้มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งอึ่งเพ้า ถือเป็นอาหารประจำฤดูกาลที่มีราคาสูงของคนในพื้นที่ นอกจากนี้อึ่งเพ้ายังเป็นผู้ควบคุมประชากรปลวก มด และแมลงบางชนิดที่อาจจะเป็นศัตรูพืชในธรรมชาติอีกด้วย โดยที่ผ่านมา คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติมหาวิทยาลัยพะเยา ได้ปล่อยอึ่งเพ้าคืนสู่ธรรมชาติไปแล้ว กว่า 1 หมื่นตัว